การใช้งานแก๊สปกคลุมในอุตสาหกรรมการเชื่อม

การใช้งานแก็สปกคลุมในอุตสาหกรรมการเชื่อม


ทีนี้ก็มาประเภทของแก็สปกคลุมกันบ้าง

แก็สปกคลุมในอุตสาหกรรมสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ แก็สอัดตัว (Compressed Gas) และ แก็สเหลว (Liquid Gas) ซึ่งการใช้งานแก็สทั้งสองประเภทนี้จะแตกต่างกันโดยพิจารณาเลือกใช้งานจากลักษณะของการเชื่อม และปริมาณการใช้งาน


แก็สอัดตัว (Compressed Gas) เป็นแก็สที่มีการใช้งานในวงกว้างเนื่องจากมีความสะดวกในการใช้งาน สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย จะบรรจุแก็สลงในขวดเหล็กกล้าไร้ตะเข็บปริมาตรขวด 40 ลิตร ด้วยความดัน 150 บาร์ (มาตรฐาน ISO ปริมาตรขวด 50 ลิตร แรงดัน 200 บาร์)


จริงๆแล้วมีหลายขนาดมากตาม chart ขวดขนาดเล็กจะเหมาะสำหรับงานซ่อมบำรุง เชื่อมเล็กน้อย ขนาดและสีของแต่ละมาตรฐานอาจมีแตกต่างกันนะครับ ต้องระวังในการเลือกใช้งานให้ดี


การใช้งานแก็สอัดตัว

1. แบบรถคาร์ทบรรทุกเครื่องเชื่อมและขวดแก็ส เหมาะสำหรับงานสร้าง (Fabrication) ชิ้นงานมีขนาดใหญ่ การทำการเชื่อมต้องมีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา และยังเหมาะสำหรับสถานประกอบการทุกประเภทสำหรับงานซ่อมบำรุง 


2. แบบสถานีเชื่อม จะใช้ระบบแมนนิโฟล์ดในการจ่ายแก็สมายังสถานีเชื่อม  เหมาะสำหรับในกรณีที่เป็นโรงงานขนาดกลางถึงขนาดเล็กมีระบบการผลิต (Production) แบบสถานีเชื่อม (Welding Stationery) หรือบู๊ทเชื่อม (Welding Booth) การใช้ระบบแมนนิโฟล์ดจะสร้างโรงจ่ายแก็สไว้ด้านนอกอาคารโรงงาน และเดินท่อแก็สเข้ามาที่สถานีเชื่อม ช่วยให้การผลิตมีความต่อเนื่องมากขึ้น ลดเวลาในการเปลี่ยนแก็ส

รุ่นใหม่ๆมีระบบเตือน และระบบสำรองแก็สอัตโนมัติ


3. แบบขวดแพ็ค (Pack Cylinder) เหมาะสำหรับงานสนาม โครงการขนาดใหญ่ จะใช้ขวดแก็ส 20 - 25 ขวด ต่ออนุกรม บรรจุในโครงสร้างเหล็ก ใช้รถเครนเคลื่อนย้ายหรือสับเปลี่ยนเมื่อแก็สหมด หรืออาจเรียกว่า Bundle


การใช้งานแก็สเหลว

การใช้งานแก็สเหลว Liquid gas เหมาะสำหรับสถานประกอบการที่มีการใช้แก็สสำหรับการเชื่อมในปริมาณที่สูงมาก สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายแก็สได้ร้อยละ 20 – 30 สามารถควบคุมการใช้งานแก็สได้สะดวก ไม่ต้องสำรองแก็สเหมือนการใช้แก็สอัดขวด

ไม่เปลืองที่จัดเก็บแก็ส และไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องขวดแก็สหาย


การติดตั้งถังบรรจุแก็สเหลวจะติดตั้งไว้ด้านนอกอาคารโรงงาน และเดินท่อแก็สมาที่สถานีเชื่อม ปัจจุบันผู้ให้บริการแก็สเหลวหลายแห่งมีบริการติดตั้งถังบรรจุแก็สและเดินระบบจ่ายแก็สให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพียงแต่สถานประกอบการต้องผ่านการพิจารณาด้านปริมาณการใช้แก็สตามข้อกำหนดของผู้ให้บริการ ลองถาม Air Liquid ดูก็ได้ครับ


ผศ.ดร.ปริยสุทธิ์ วัฒนธรรม

ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ


วิทยาทานในครั้งนี้ข้าพเจ้าขออุทิศผลบุญให้คุณพ่อประสงค์ คุณแม่รัตนาพร วัฒนธรรม และคณาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ข้าพเจ้าจนสามารถต่อยอดองค์ความรู้เกิดประโยชน์เป็นวงกว้างผ่านสื่อโซเชียลเทอญ....

#บทความน่ารู้ลองเวล

Visitors: 324,323