เรื่อง Goggle กับ Helmet

วันนี้เอาเบาๆ มาคุยเรื่อง goggle กับ helmet กัน
Goggle จะมีลักษณะเหมือนเป็นแว่น ใช้สำหรับงานเชื่อมแก๊สเป็นหลัก Shade Number ของกระจกกรองแสง จะอยู่ที่ประมาณเบอร์ 3 หรือเบอร์ 4 ถ้าเข้มกว่านี้ จะมองไม่เห็น โดยปกติจะใช้กับงานเชื่อมแก๊สหรืองานบัดกรี ทั้ง brazing และ soldering
ส่วน helmet หรือหน้ากากเชื่อม จะมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ ทั้งแบบมือถือ และแบบสวมหัว มีทั้งแบบ ธรรมดา และแบบปรับแสงอัตโนมัติ ให้เลือกใช้มากมาย ซึ่งวันนี้ คงจะพูดถึง หน้ากากเชื่อมแบบสวมศีรษะ เป็นพิเศษ
หน้ากากเชื่อมแบบสวมหัวหรือ helmet จะนิยมใช้กับงานเชื่อมในภาคอุตสาหกรรม แตกต่างจาก หน้ากากเชื่อมแบบมือถือ แบบมือถือจะใช้งาน DIY หรืองานพวกเหล็กดัดชิงช้ากรงหมาฝาท่อ ซึ่งตรงนี้ ผม เสนอว่า สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับงานเชื่อม ควรเลิกใช้หน้ากากเชื่อมแบบมือถือ เพราะไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม
กลับมาที่เรื่อง goggle หรือ helmet ปรับแสงอัตโนมัติ ก็น่าจะคุยกันได้เป็นวรรคเป็นเวร หน้ากากเชื่อมแบบนี้ จะเหมาะสำหรับการใช้งานประเภทเชื่อมหรือบัดกรีด้วยแก๊ส แต่ถ้าเป็นงานเชื่อม arc ไม่แนะนำ โดยเฉพาะ งานเชื่อม arc ที่มีสะเก็ดไฟเชื่อมเป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า Spatter
สำหรับ งานเชื่อม TIG สามารถใช้งานได้ แต่ก็ต้องมีอุปกรณ์ควบ อย่างที่เห็นในวีดีโอ คือในการเชื่อมแบบอาร์ก จะมีรังสียูวีและรังสีอินฟราเรด จึงต้อง มีอุปกรณ์ช่วยป้องกัน ใบหน้า ถ้าไม่มี รับประกันหน้าแหกแน่นอน และถ้าใช้กับการเชื่อม arc พวกกระจกใสที่ป้องกัน spatter ของหน้ากากพวกนี้ ปกติจะใช้เป็นพลาสติก น่าจะเป็นพวก ABS เม็ด spatter จะกระเด็นมาเกาะติดได้ง่ายทำให้มีอายุการใช้งานที่สั้น ราคาแพง และต้องเปลี่ยนบ่อยๆ
สำหรับเรื่องราคา หน้ากากสวมหัวแบบธรรมดา จะเริ่มต้นที่ 400 บาท ในขณะที่ หน้ากากสวมหัวแบบปรับแสงอัตโนมัติ จะเริ่มต้นที่ 1500 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับคุณภาพ และวัสดุ ความทนทาน แต่สินค้าเกือบทั้งหมด มาจากประเทศจีน (จีนมีหลายเกรดนะครับ)
ในแง่ของการใช้งาน ถ้าเป็นกระบวนการเชื่อมอาร์กไฟฟ้าด้วยมือ มิกแม็ก ฟลักคอร์ แบบโหดๆลุยๆ หรือการใช้งานที่ไซต์งาน แนะนำให้ใช้แบบธรรมดา
แต่ถ้าเป็นการเชื่อมในโรงงาน ที่มีพื้นที่เป็นสัดส่วน มีผนังกั้นแสง หรือที่เรียกว่า welding Booth ใช้กับกระบวนการเชื่อม TIG หรือการเชื่อม MIG MAG ในโหมดที่มีเม็ดโลหะกระเด็น spatter ไม่มาก หรือเป็นพวกงานเชื่อมประกอบ Part ชิ้นส่วน ต่างๆเข้าด้วยกัน จะแนะนำให้ใช้หน้ากากปรับแสงแบบอัตโนมัติ
เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลา ในการเปิดปิดหน้ากาก ระหว่างทำการเชื่อมยึด แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ต้องเป็นการเชื่อมใน welding booth หรือมีฉากกั้นป้องกันไม่ให้แสงวาบ ที่เกิดจากการเชื่อมของช่างเชื่อมคนอื่นๆ มารบกวน Sensor ที่หน้ากากของช่างเชื่อมอีกคนที่อยู่ใกล้กัน ไม่เป็นอันต้องทำงานกันละครับ
เรื่องเทคโนโลยี ของหน้ากากเชื่อม ที่มีการปรับแสงแบบอัตโนมัติ ผู้ประกอบการจะต้องเลือกใช้งานให้เหมาะสม ถูกต้องกับลักษณะงานของตนเอง การเลือกได้ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยในการเพิ่มผลิตภาพ ในการผลิต หรือที่เรียกว่า productivity นั่นเอง
ตารางก็สำคัญ ต้องดูให้เป็น ที่ผมเลือก เอาตารางนี้มาให้ดู เพราะมีการอ้างอิง ANSI Z49.1 เกี่ยวกับความปลอดภัย เนื้อเรื่องของการ ป้องกันอันตรายจากการเชื่อม ในเรื่องของแสงวาบและรังสี
กระจกกรองแสง จะมี Shade Number แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับของการใช้กระแสไฟเชื่อม แม้ว่าจะเป็นกระบวนการเชื่อมแบบเดียวกันก็ตาม สามารถ ดูในตารางได้เลยครับ
Cr. ผศ.ดร.ปริยสุทธิ์ วัฒนธรรม
ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
วิทยาทานในครั้งนี้ข้าพเจ้าขออุทิศผลบุญให้คุณพ่อประสงค์ คุณแม่รัตนาพร วัฒนธรรม และคณาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ข้าพเจ้าจนสามารถต่อยอดองค์ความรู้เกิดประโยชน์เป็นวงกว้างผ่านสื่อโซเชียลเทอญ....
Visitors: 329,647