กระบวนการเชื่อมทิก

บทนำกระบวนการเชื่อมทิก

กระบวนการเชื่อมทิก เป็นกระบวนการเชื่อมในกลุ่มของการเชื่อมแบบอาร์ก (Arc Welding) โดยใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องเชื่อมที่มีแหล่งพลังงานแบบกระแสคงที่ (Constant Current) ร่วมกับการใช้แก็สเฉื่อยเป็นแก็สคลุม สร้างอาร์กโดยการปล่อยอิเล็คตรอนจากปลายทังสเตนอิเล็คโทรดไปชนกับอะตอมของแก็สเฉื่อยทำให้อะตอมของแก็สเฉื่อยแตกตัว (Ionization) ปล่อยพลังงานความร้อนออกมาในรูปแบบของพลาสมาอาร์ก (Plasma Arc)

 

เป็นกระบวนการเชื่อมที่ไม่มีการใช้ฟลั๊กซ์ร่วม ดังนั้นจึงต้องการความสะอาดที่ผิวรอยต่อที่จะทำการเชื่อมสูง เหมาะสำหรับการเชื่อมที่ต้องการคุณภาพของรอยเชื่อมที่สูง โดยเฉพาะการเชื่อมแนวราก (Root Welding) เหมาะกับการเชื่อมวัสดุอุตสาหกรรมทุกประเภท เช่น เหล็กกล้า เหล็กกล้าไร้สนิม อลูมิเนียม ไทเทเนียม ทองแดง เป็นต้น และเป็นกระบวนการที่นิยมใช้สำหรับการเชื่อมท่ออุตสาหกรรม เนื่องจากให้คุณภาพรอยเชื่อมสูง

 

การเรียกชื่อกระบวนการเชื่อมนี้มีการเรียกชื่อแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของโลกทางกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปจะเรียกว่า TIG (Tungsten Inert Gas) หรือ WIG (Wolfram Inert Gas)

 

ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาจะเรียกกระบวนการเชื่อมนี้ตามคำย่อว่า GTAW (Gas Tungsten Arc Welding) สำหรับประเทศไทยจะนิยมเรียกทั้งสองแบบ และจะมีภาษาที่ช่างนิยมเรียกกันว่า เชื่อมอาร์กอน ตามชนิดของแก็สเฉื่อยที่ใช้  จริงๆแล้วเรียกเชื่อมอาร์กอน ก็คงไม่ถูกนัก เพราะมีการใช้แก็สอื่นๆผสมด้วย

 

ทีนี้คงต้องมาเริ่มที่การจำแนกกระบวนการเชื่อมทิกกันก่อน ว่ามีหลักในการจำแนกแบบใดได้บ้าง

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆในการศึกษาไม่ว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ผู้ศึกษาต้องสามารถจำแนก แยกแยะประเภทได้ก่อน จึงจะสามารถจัดลำดับเรื่องราว ทำความเข้าใจได้ ไม่สับสน

 

การจำแนกกระบวนการเชื่อมสามารถจำแนกได้หลายวิธีการดังต่อไปนี้

1. จำแนกกระบวนการเชื่อมตามวิธีการเติมเนื้อวัสดุเชื่อม

• การเชื่อมโดยไม่เติมลวดเชื่อม (Autogenous Welding) 

• การเชื่อมโดยการเติมวัสดุเชื่อมชนิดเดียวกับวัสดุงาน (Homogenous Welding)

• การเชื่อมโดยการเติมวัสดุเชื่อมต่างชนิดกับวัสดุงาน (Heterogeneous Welding)

 

2. จำแนกกระบวนการเชื่อมตามมาตรฐาน ISO 4063

มาตรฐาน ISO 4063 แบ่งกระบวนการเชื่อมทิกออกตามกลุ่มย่อยตามชนิดของวัสดุเติม และแก็สคลุมดังต่อไปนี้

• 14 Gas shield welding with non consumable electrode

• 141 Tungsten Inert Gas (arc) welding (wolfram electrode) with solid -wire   or -rod and inert gas

• 142 Tungsten Inert Gas (arc) welding without filler material

• 143 Tungsten Inert Gas (arc) welding with flux-cored - wire or -rod

• 145 Tungsten Inert Gas (arc) welding with solid -wire or -rod with    deoxidizing gas (partly)

• 146 Tungsten Inert Gas (arc) welding with flux-cored - wire or -rod with   deoxidizing gas (partly)

• 147 Tungsten Active Gas (arc) welding (wolfram electrode) and active gas

 

ถ้าดูตามมาตรฐาน ISO4063 จะแบ่งตามกลุ่มของวัสดุเติมและแก็สคลุม

 

ส่วนของ AWS จะแบ่งเป็น GTAW กับ GTAW-P หรือทิกธรรมดา กับทิกพัลส์

 

ที่กล่าวมานี้เป็นความรู้เบื้องต้นของกระบวนการเชื่อมทิกนะครับ

 

ผศ.ดร.ปริยสุทธิ์ วัฒนธรรม

ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

 

 

วิทยาทานในครั้งนี้ข้าพเจ้าขออุทิศผลบุญให้คุณพ่อประสงค์ คุณแม่รัตนาพร วัฒนธรรม และคณาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ข้าพเจ้าจนสามารถต่อยอดองค์ความรู้เกิดประโยชน์เป็นวงกว้างผ่านสื่อโซเชียลเทอญ....

บทความน่ารู้ลองเวล

Visitors: 324,407