การจำแนกกระบวนการเชื่อมตามการใช้งาน

วิธีที่ 4 การจำแนกกระบวนการเชื่อมตามการใช้งาน
ประเภทของการเชื่อมตามการใช้งานสามารถแบ่งตามลักษณะการเคลื่อนที่ของหัวเชื่อม ระบบป้อนลวดเชื่อม และชิ้นงาน ได้ 4 ลักษณะ
ลองพิจารณารายละเอียดให้ดีนะครับ จะเห็นว่าเกือบทุกกระบวนการเชื่อม สามารถประยุกต์ใช้งานได้แตกต่างกัน
การเชื่อมแบบแมนนวล (Manual) ผู้ทำการเชื่อม หรือช่างเชื่อม (Welder) จะเป็นผู้จับหัวเชื่อม และป้อนลวดเชื่อมด้วยมือ รวมถึงการหยิบจับชิ้นงานด้วยมือระหว่างปฏิบัติงาน คุณภาพของรอยเชื่อมจะขึ้นกับทักษะและประสบการณ์ของผู้ทำการเชื่อม
อย่างมิก หรือ แม็ก ไม่นับเป็นการเชื่อมแบบแมนนวลนะครับ เพราะไม่ได้ป้อนลวดเชื่อมเอง
การเชื่อมแบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Automated Welding) ผู้ทำการเชื่อม จะเป็นผู้จับหัวเชื่อมควบคุมทิศทางการเชื่อม แต่จะแตกต่างกับการเชื่อมแบบแมนนวลตรงที่ จะใช้ระบบการป้อนลวดด้วยชุดป้อนลวดเชื่อม (Wire Feeder) เช่นการเชื่อมมิก แม็ก และฟลักซ์คอร์ รวมถึงการประยุกต์ใช้ระบบการป้อนลวดกับกระบวนการเชื่อมทิก จะจัดเป็นการเชื่อมแบบกึ่งอัตโนมัติ
รุ่นนี้ เดินหน้าถอยหลังลวดได้ เหมาะกับงานที่ใช้กระแสสูงๆ ที่ต้องการอัตราการเติมเนื้อโลหะเชื่อมสูง (High Deposition Rate) หรือช่วยลดการใช้ทักษะของช่างเชื่อม
การเชื่อมด้วยเครื่อง (Mechanized Welding) กรณีนี้ผู้ทำการเชื่อมจะไม่จับหัวเชื่อม จะทำหน้าที่หยิบชิ้นงานที่ต้องทำการเชื่อมใส่ลงในเครื่อง และทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการเชื่อม (Weld Operator) คุณภาพของรอยเชื่อมจะไม่ขึ้นกับทักษะของผู้ควบคุมการเชื่อม
SAW เป็นการเชื่อมแบบหนึ่งของการเชื่อมด้วยเครื่องที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด
สามารถประยุกต์เป็น Multi Electrode ในงาน Cladding
กรณีผู้ควบคุมการเชื่อม Weld Operator ก็ต้องมีการสอบรับรองทักษะการควบคุมเครื่องเชื่อมเหมือนกับการสอบช่างเชื่อม
การเชื่อมด้วยระบบอัตโนมัติ (Automated Welding) จะครอบคลุมถึงการเชื่อมที่มีการใช้ระบบ CNC (Computer Numerical Control) และหุ่นยนต์ (Robotic) ในการควบคุมการเชื่อมและระบบการป้อนงานเข้าและออกจากสถานีเชื่อมที่เป็นแบบอัตโนมัติ กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องมีผู้ควบคุมการเชื่อม
เหมาะกับอุตสาหกรรมการผลิตแบบจำนวนมาก สามารถประยุกต์ใช้กับกระบวนการเชื่อมแบบอาร์ก การเชื่อมด้วยความต้านทาน รวมถึงการเชื่อมด้วยแหล่งพลังงานสูง เช่น การเชื่อมด้วยลำแสงเลเซอร์ และการเชื่อมอิเล็คตรอนบีม เป็นรูปแบบของอุตสาหกรรม 4.0

ผศ.ดร.ปริยสุทธิ์ วัฒนธรรม
ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

วิทยาทานในครั้งนี้ข้าพเจ้าขออุทิศผลบุญให้คุณพ่อประสงค์ คุณแม่รัตนาพร วัฒนธรรม และคณาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ข้าพเจ้าจนสามารถต่อยอดองค์ความรู้เกิดประโยชน์เป็นวงกว้างผ่านสื่อโซเชียลเทอญ....
บทความน่ารู้ลองเวล

Visitors: 324,434